ปลาน้ำจืด ที่หาดูได้ยากมากในธรรมชาติของประเทศไทย

ในน้ำมีปลา ในนามีข้าว เป็นคำกล่าวที่บ่งบอกถึงความอุดมสมบูรณ์ของประเทศไทยมาตั้งแต่ในอดีต แต่ด้วยกาลเวลาผ่านไป อาจมีหลายอย่างที่เปลี่ยนแปลงตามไปด้วย ไม่เว้นแม้กระทั้งปลาสายพันธุ์ต่าง ซึ่งในอดีตอาจพบเจอพวกมันได้ง่ายกว่าในปัจจุบันมาก โดยบางชนิดก็กำลังยู่ในสถานะใกล้สูญพันธุ์จนถึงสูญพันธุ์ไปแล้วก็มี

วันนี้เราจึงอยากขอพาทุกท่านไปรับชมปลาสายพันธุ์ต่างที่ปัจจุบันหาชมได้ยากมากในเมืองไทย ซึ่งปลาที่เรามาให้ชมกันในวันนี้เป็นเพียงส่วนหนึ่งเท่านั้นนะครับ ซึ่งจะมีปลาอะไรบ้างนั้น ถ้าพร้อมแล้วเราไปรับกันได้เลย

1. ปลาค้างคาวดอยอินทนนท์ (Siamese freshwater batfish)

ปลาค้างคาวดอยอินทนนท์ เป็นปลาน้ำจืดเฉพาะถิ่นของประเทศไทย ที่พบได้เฉพาะในอุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์ จังหวัดเชียงใหม่เท่านั้น และจะพบได้ที่ระดับความสูง 1,200 เมตร ขึ้นไป

เป็นปลาความยาวประมาณ 15 เซนติเมตร มีลักษณะที่แตกต่างไปจากปลาหนังชนิดอื่น ตรงที่ครีบหลังและครีบอกไม่มีก้านแข็ง ลำตัวเรียวยาวหัวและอกแบนราบ มีหนวด 4 คู่ ปากมีขนาดเล็กอยู่ด้านล่าง ครีบอกและริมฝีปากมีลักษณะคล้ายถ้วยดูด

ใช้สำหรับดูดเกาะติดกับกรวดหินในน้ำ ลำตัวมีสีน้ำตาลอมเขียว …เป็นปลาที่อยู่ในสถานะใกล้สูญพันธุ์

2. ปลาฉลามน้ำจืด (Glyphis siamensis)

ปลาฉลามน้ำจืด หรือ ปลาฉลามแม่น้ำอิรวดี (River sharks, Freshwater sharks) เป็นหนึ่งในฉลามหายากที่สุดในโลก มีชื่อสกุลว่ากลายฟิส (Glyphis) อยู่ในวงศ์ของฉลามครีบดำ โดยฉลามน้ำจืดถือเป็นฉลามเพียงสกุลเดียวเท่านั้นที่สามารถอาศัยอยู่ในน้ำกร่อยหรือน้ำจืดสนิทได้ตลอดทั้งชีวิต

โดยปกติฉลามน้ำจืดพวกนี้ จะอาศัยอยู่ในแม่น้ำขนาดใหญ่และตามแนวชายฝั่ง กระจายพันธุ์อยู่แถบเอเซียตะวันออกเฉียงใต้ ปาปัวนิวกินีและออสเตรเลีย พวกมันมีอยู่อย่างน้อย 4 ชนิด ในประเทศไทยพบเพียง 1 ชนิด ซึ่งก็คือปลาฉลามแม่น้ำอิรวดี

สำหรับ ฉลามแม่น้ำอิรวดี (Irrawaddy river shark) มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Glyphis siamensis (กลายฟิส สยามเอ็นสิส) ตามที่อ้างอิงจากหนังสือปลาน้ำจืดไทย ของ ดร.นนท์ ผาณิตวงศ์ ได้เขียนเอาไว้ว่า

ฉลามแม่น้ำชนิดนี้มีความยาวประมาณ 300 เซนติเมตร มีลำตัวเพรียวยาวกว่าฉลามหัวบาตร หน้าแหลมยาว ครีบอกมีขนาดใหญ่ ครีบหลังแรกเป็นรูปสามเหลี่ยม ครีบหลังที่สองมีขนาดเล็กลงกว่าครีบหน้าประมาณครึ่งหนึ่ง เป็นปลาที่อาศัยอยู่ตามป่าชายเลน บริเวณปากแม่น้ำ

ถูกอธิบายจากตัวอย่างต้นแบบที่พบในแม่น้ำอิรวดี ประเทศพม่า ซึ่งมีความยาวประมาณ 60 เซนติเมตร แต่ไม่มีบันทึกใดๆ ว่าทำไมจึงตั้งชื่อวิทยาศาสตร์ให้กับฉลามชนิดนี้ โดยมีคำว่า สยามเอ็นสิส (siamensis) ซึ่งหมายความว่าพบในประเทศไทย ปัจจุบันเป็นปลาที่เสี่ยงขั้นวิกฤติต่อการสูญพันธุ์

3. ปลาหมูอารีย์ (Ambastaia sidthimunki)

ปลาหมูอารีย์ เป็นปลาน้ำจืดขนาดเล็ก มีลักษณะแบนข้าง ลำตัวเรียวยาวเล็กน้อย มีสีเหลืองสด หลังและกลางลำตัวมีแถบสีดำพาด และมีบั้งสีดำพาดลงมาจากสันหลังถึงท้อง มีหนวด 3 คู่ เป็นปลาที่ยาวประมาณ 5 เซนติเมตร

พบที่ลุ่มแม่น้ำแม่กลอง ในเขตจังหวัดราชบุรีจนถึงรอยต่อจังหวัดกาญจนบุรี โดยปลาหมูอารีย์เป็นปลาที่ได้รับการยอมรับว่าเป็นปลาหมูชนิดที่มีสีสันสวยงามมากที่สุด

และมันก็อยู่ในสถานะเสี่ยงขั้นวิกฤติต่อการสูญพันธุ์เช่นกัน แต่โชคยังดีที่ในตอนนี้สามารถเพาะขยายพันธุ์ได้แล้ว แน่นอนว่าพบได้ยากมากๆ ในธรรมชาติอยู่ดี

4. ปลาตะพัดสีนาก (Scleropages inscriptus)

ปลาตะพัดลายงู หรือ ปลาตะพัดสีนาก เป็นปลาที่ยาวได้ถึง 90 เซนติเมตร ในปลาขนาดเล็กจะมีลำตัวและแก้มสีน้ำตาลอ่อน ลายบริเวณแก้มอันเป็นเอกลักษณ์จะเริ่มมีให้เห็นเมื่อปลายาวประมาณ 20 เซนติเมตร ส่วนลายบนเกล็ดจะค่อยๆ มีให้เห็นเมื่อปลายาว 30 เซนติเมตรขึ้นไป และเมื่อโตเต็มที่ ปลาจะมีพื้นลำตัวสีน้ำตาลทองหรือสีนาก และมีลายขนาดเล็กคดไปคดมาบริเวณเกล็ดและแก้มอย่างเห็นได้ชัด

ปลาตะพัดสีนาก สามารถแยกออกจากปลาตะพัดเขียวได้ง่าย นั้นเพราะปลาตะพัดสีนาก กระจายพันธุ์อยู่เฉพาะทางภาคใต้ฝั่งแม่น้ำที่ไหลลงทะเลอันดามัน ตั้งแต่ทางตอนใต้ของพม่า ลงไปในคาบสมุทรมลายูทั้งในประเทศไทยและมาเลเซีย

สำหรับในประเทศไทยคาดว่าแหล่งที่อยู่สุดท้ายของปลาตะพัดสีนากจะอยู่ที่ คลองละงู จังหวัดสตูล แต่ก็อาจจะสูญพันธุ์ไปจากธรรมชาติของประเทศไทยแล้ว …ปัจจุบันเริ่มมีการเพาะพันธุ์เพื่อนำมาขายเป็นปลาสวยงามมากขึ้น และหวังจะมีการปล่อยคืนสู่ธรรมชาติในอนาคต

5. ปลาตะลุมพุก (Tenualosa toli)

ปลาตะลุมพุก เป็นปลาที่ยาวได้ประมาณ 60 เซนติเมตร มีลำตัวแบนข้างมาก เกล็ดบริเวณลำตัวมีสีเงิน แนวสันหลังสีเข้ม ท้องเป็นสัน ในปลาที่โตเต็มวัยจะอาศัยอยู่ในบริเวณชายฝั่ง แล้วจะว่ายเข้ามาวางไข่ตามแม่น้ำขนาดใหญ่ ในประเทศไทยเมื่อหลายสิบปีก่อน เคยพบมากในลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาและทะเลสาบสงขลา สำหรับแม่น้ำเจ้าพระยา เคยมีรายงานว่าเข้ามาวางไข่ถึงจังหวัดนนทบุรี จนมีการทำประมงเพื่อจับปลาชนิดนี้โดยเฉพาะ

เคยพบมากที่สุดบริเวณบางยี่ขัน เชื่อกันว่า ปลาชนิดนี้จะว่ายเข้ามากินส่าเหล้าจากโรงงานสุราที่อยู่ในบริเวณนั้น เป็นปลาเนื้อดี ปัจจุบันจัดเป็นปลาที่ใกล้สูญพันธุ์มากที่สุดชนิดหนึ่งของไทย

6. ปลาค้อถ้ำพระไทรงาม (Schistura deansmarti)

ปลาค้อถ้ำพระไทรงาม (Smart’s Blind Cave Loach) ยาวประมาณ 10 เซนติเมตร เป็นสัตว์เฉพาะถิ่นของประเทศไทย พบในถ้ำพระไทรงาม อำเภอเนินมะปราง จังหวัดพิษณุโลก

ปลามีลักษณะคล้ายกับปลาค้อทั่วไป แต่จะมีลำตัวสีชมพูเทาๆ และดูโปร่งแสงจนเกือบจะเห็นอวัยวะภายใน มีปากที่เล็ก ปากบนและปากล่างจะมีหนวดอย่างละ 2 เส้น ตาเล็กมากและจมอยู่ภายในหัว ชอบอาศัยอยู่ตามซอกหิน คอยจับแพลงก์ตอนหรือปรสิตที่อยู่ในถ้ำกิน …เป็นปลาที่อยู่ในสถานะเสี่ยงขั้นวิกฤติต่อการสูญพันธุ์

7. ปลาเสือตอลายใหญ่ (Datnioides pulcher)

ปลาเสือตอลายใหญ่ เป็นปลาที่ยาวได้ประมาณ 40 เซนติเมตร มีพื้นลำตัวสีเหลืองอมส้ม หรือเหลืองอมน้ำตาล มีลายสีดำขนาดใหญ่พาดในแนวขวางบริเวณลำตัว โดยลายเส้นแรกจะพาดผ่านตา และเส้นสุดท้ายจะไปจบที่โคนหาง

โดยนักเลี้ยงจะแบ่งปลาเสือตอชนิดนี้ ออกเป็นสองลักษณะ หนึ่งคือตัวที่มีลายกลางตัวขนาดใหญ่หนึ่งเส้น จะเรียกว่าปลาเสือตอลายใหญ่ และสองคือที่มีลายกลางตัวสองเส้น จะเรียกว่าเสือตอลายคู่ ซึ่งราคาจะถูกกว่าเสือตอลายใหญ่

ในอดีตสามารถพบปลาเสือตอลายใหญ่ ได้มากมายในแม่น้ำเจ้าพระยา แม่น้ำน่าน และ บึงบอระเพ็ด จัดเป็นปลาที่มีรสชาติดีและยังเป็นของขึ้นชื่อของจังหวัดนครสวรรค์ และเพราะเป็นปลาที่ตลาดปลาสวยงามต้องการตัวเป็นอย่างมาก ปลาเสือตอลายใหญ่จึงถูกจับไปขายทั้งในประเทศและต่างประเทศ

เมื่อรวมเข้ากับแหล่งน้ำที่เสื่อมโทรมลง จึงทำให้ปลาเสือตอลายใหญ่ในลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา อยู่ในสถานะเสี่ยงขั้นวิกฤติต่อการสูญพันธุ์ ส่วนในลุ่มแม่น้ำโขงก็ไม่มีรายงานการพบเห็นในเขตไทยมานานมากแล้ว แต่ยังพอมีเหลือน้อยมากในประเทศกัมพูชา เวียดนาม และ อินโดนีเซีย

8. ปลาดุกบอนแม่กลอง (Olyra sp.Maeklong)

ปลาดุกบอนแม่กลอง ยาวได้ประมาณ 10 เซนติเมตร เป็นปลาดุกบอนเพียงชนิดเดียวที่พบในประเทศไทย พบเฉพาะในลุ่มน้ำแม่กลองตอนบน เป็นปลาที่พบครั้งแรกในระหว่างการศึกษาผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม ก่อนการสร้างเขื่อนวชิราลงกรณ หรือ เขือนเขาแหลม หลังจากนั้นไม่มีรายงานเกี่ยวกับปลาชนิดนี้อีกเลย

จนกระทั่งปี พ.ศ.2552 มีปลาบางส่วนถูกจับมาขายโดยพ่อค้าปลาสวยงามใน อ.บ้านโป่ง จ.ราชบุรี โดยพ่อค้าแจ้งว่า จับมาจากลำธารในเขตต้นแม่น้ำแควน้อย อาศัยอยู่ตามลำธารขนาดเล็ก พบบริเวณริมตลิ่งตรงที่มีพืชน้ำขึ้นหนาแน่นหรือตามแอ่งที่มีกิ่งไม้ตกทับใต้น้ำ ปัจจุบันยังไม่มีการอธิบายลักษณะทางอนุกรมวิธาน

9. ปลาหว้าหน้านอแม่กลอง (Incisilabeo sp.Maeklong)

ปลาหว้าหน้านอแม่กลอง ยาวได้ประมาณ 50 เซนติเมตร จุดเด่นของปลาชนิดนี้คือ บริเวณส่วนหัวจะปูดออกมาคล้ายกับโหนก และยังมีขนาดใหญ่กว่าปลาหว้าหน้านอที่พบในแม่น้ำโขง หางและขอบครีบหลังจะตัดเป็นเส้นเกือบตรง กึ่งกลางไม่เว้าลึก

ปลาหว้าหน้านอแม่กลอง จัดเป็นปลาในตำนานของไทยอีกตัว เนื่องจากยังไม่ได้รับการอธิบายลักษณะทางอนุกรมวิธานอย่างถูกต้อง มันเป็นปลาที่เคยปรากฎอยู่บนนิตยสารตกปลาเมื่อประมาณ 20 กว่าปีก่อน ในตอนนั้นทราบเพียงแค่ถ่ายมาจากจังหวัดกาญจนบุรี บริเวณเขื่อนศรีนครินทร์ และมีเพียงภาพเดียว จนกระทั่งพบภาพอีกชุดซึ่งถ่ายโดยคุณ ประทุมทอง จากอำเภออุ้มผาง จังหวัดตาก บริเวณต้นน้ำแม่กลอง เมื่อประมาณ 10 ปีก่อน และจนถึงทุกวันนี้ยังไม่มีรายงานเพิ่มเติมเกี่ยวกับปลาชนิดนี้อีกเลย

10. ปลาหางไหม้ (Balantiocheilos ambusticauda)

ปลาหางไหม้ หรือ ปลาฉลามหางไหม้ (Siamese bala-shark) เป็นปลาที่อยู่ในสถานะอาจจะสูญพันธุ์ไปแล้ว แน่นอนนักเลี้ยงปลาบางคนอาจคิดว่าปลาหางไหม้จะสูญพันธุ์ได้ไง ก็ในเมื่อมีเต็มตลาด แต่! ต้องบอกว่าปลาฉลามหางไหม้ทั้งหมดที่เลี้ยงในตอนนี้ไม่ใช่หางไหม้ไทย นั้นเพราะหางไหม้ไทยอาจจะสูญพันธุ์ไปมากกว่า 40 ปีแล้ว

ปลาหางไหม้ มีรูปร่างเพรียวยาว ตาโต ปากเล็ก ใต้คางมีแผ่นหนังเป็นถุงเปิดออกด้านท้าย ลำตัวแบนข้างเล็กน้อย เกล็ดมีขนาดเล็กสัดส่วนของครีบทุกครีบเหมาะสมกับลำตัว โดยเฉพาะครีบหางซึ่งเว้าเป็นแฉกลึก สีของลำตัวเป็นสีเงินแวววาว ด้านหลังสีเขียวปนเทา ครีบหลัง ครีบท้อง ครีบก้นและครีบหาง จะมีสีส้มแดงและขอบเป็นแถบดำ

ปัญหาของปลาหางไหม้ไทยคือ พวกมันเป็นปลาที่เปราะบาง เกล็ดหลุดง่าย ครีบแตกและตกใจง่าย นอกจากนั้นยังเป็นปลาที่กระโดดได้เก่งมาก อาจกระโดดได้สูงถึง 2 เมตร สรุปคือเป็นปลาที่มีอัตรารอดที่ต่ำกว่าปลาส่วนใหญ่ หากถูกจับส่วนใหญ่จะตาย ส่วนสาเหตุหลักที่ผลักดันให้ปลาพวกนี้ต้องสูญพันธุ์อย่างรวดเร็ว นอกจากการจับที่มากเกินไป การสร้างเขื่อนจำนวนมากก็เป็นเหตุผลหลักเช่นกัน

11. ปลาสะนากยักษ์ (Aaptosyax grypus)

ในประเทศไทยจะมีปลาสะนากอยู่ 2 ชนิด ชนิดแรกคือ ปลาสะนาก ที่อยู่ในสกุลปลาน้ำหมึกยักษ์ หรือไรอามาส (Raiamas) เป็นปลาที่พบได้ทั่วไปในแหล่งน้ำไหลของภาคกลาง ภาคเหนือและอีสาน แต่ดูเหมือนสะนากชนิดนี้จะมีเยอะตามคลองแถวๆ ภาคกลางค่อนไปทางเหนือมากกว่า

ส่วนอีกชนิดคือ ปลาสะนากยักษ์ หรือ แซลมอนยักษ์แห่งลุ่มแม่น้ำโขง (Mekong giant salmon carp) มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า แอปโทไซแอ็กซ์ กริปัส (Aaptosyax grypus) เป็นปลาเพียงชนิดเดียวที่อยู่ในสกุล แอปโทไซแอ็กซ์ (Aaptosyax)

ปลาสะนากยักษ์ถือเป็นปลานักล่าขนาดใหญ่ มียาวได้ถึง 130 เซนติเมตร ลักษณะโดยรวมของปลาสะนากยักษ์คือ คล้ายกับปลาแซลมอน รูปร่างเรียวยาวทรงกระบอก ปากกว้าง ขากรรไกรโค้งคล้ายตะขอที่จะสบเข้ากับช่องที่อยู่ปากด้านบน มีเกล็ดเล็กมาก ลำตัวสีเงินวาวเหลือบเหลืองทอง ครีบสีส้มเรือๆ

เป็นปลาที่หากินอยู่ในระดับกลางน้ำจนถึงผิวน้ำ เหยื่อของมันจึงเป็นปลาขนาดเล็กที่อาศัยอยู่บริเวณนั้น พบอาศัยอยู่เฉพาะในแม่น้ำโขงตอนกลาง แถบประเทศกัมพูชา ลาวและไทย

12. ปลาซิวสมพงษ์ (Trigonostigma somphongsi)

ปลาซิวสมพงษ์ ในปลาตัวผู้จะมีรูปร่างเรียวยาวและมีขนาดเล็กกว่าตัวเมีย ลำตัวมีสีเหลืองส้มและมีลวดลายด้านข้าง มีสีเข้มขึ้นเมื่อใกล้ฤดูผสมพันธุ์ และมีความยาวประมาณ 3 เซนติเมตร จัดเป็นปลาที่หายากมากๆ เนื่องจากเป็นปลาเฉพาะถิ่น พบเฉพาะลุ่มน้ำแม่กลองแถบจังหวัดกาญจนบุรี

เมื่อกว่า 50 ปีก่อน เคยถูกจัดให้เป็นปลาที่สูญพันธุ์ไปแล้วโดย IUCN ต่อมาในปี พ.ศ. 2555-2556 ปลาชนิดนี้ถูกพบอาศัยบริเวณลุ่มแม่น้ำนครนายก ซึ่งจะเข้ามาผสมพันธุ์และวางไข่ในทุ่งน้ำท่วมหรือบริเวณนาน้ำลึก ในตอนนี้สามารถเพาะขยายพันธุ์ในที่เลี้ยงได้แล้ว แต่ก็ยังหาได้ยากมากๆ ในธรรมชาติอยู่ดี จึงอยู่ในสถานะเสี่ยงขั้นวิกฤติต่อการสูญพันธุ์

13. ปลาสร้อยบู่ (Abbottina rivularis)

ปลาสร้อยบู่ เป็นปลาที่ยาวได้ประมาณ 12 เซนติเมตร บนโลกนี้มีปลาในสกุลนี้อยู่ห้าชนิด พบในประเทศไทยหนึ่งชนิด โดยปกติจะพบได้ทั่วไปในประเทศจีน เกาหลี และญี่ปุ่น ส่วนในประเทศไทยถือว่าเป็นปลาที่พบได้ยากมาก ซึ่งจะพบได้ที่ตอนบนของลุ่มแม่น้ำโขง คาดว่าเป็นปลาที่หลุดมาจากต้นน้ำของประเทศจีน จนมากระจายพันธุ์ถึงทางตอนเหนือของประเทศไทย

ปลาสร้อยบู่ มีลำตัวที่ยาว เกล็ดสีเงินขุ่น มีจุดสีดำกระจายอยู่ทั่วตัว และมีปานสีน้ำตาลเข้มขนาดใหญ่เรียงตามข้างลำตัว 5 จุด หลังยกสูง ท้องแบนเรียบ ครีบหลังมีขนาดค่อนข้างใหญ่ ชอบหากินตามท้องน้ำ ในไทยมีรายงานการพบไม่กี่ครั้ง

14. ปลาค้อถ้ำปางมะผ้า (Schistura oedipus)

ปลาค้อถ้ำปางมะผ้า เป็นปลาน้ำจืดและเป็นสัตว์เฉพาะถิ่นของประเทศไทย มีความยาวประมาณ 7 เซนติเมตร พบในระบบถ้ำในอำเภอปางมะผ้า จังหวัดแม่ฮ่องสอน จัดเป็นหนึ่งในปลาถ้ำที่มีขนาดเล็กที่สุดที่พบในประเทศไทย

ปลาค้อถ้ำปางมะผ้า ส่วนใหญ่จะไม่มีตา มีลำตัวสีเนื้อ ส่วนหัวและครีบต่างๆ เป็นสีเหลืองอ่อน ชอบอาศัยอยู่ในลำธารถ้ำที่น้ำไหลเร็วมาก ซึ่งจะค่อยกินจุลินทรีย์และสารอินทรีย์ เป็นปลาที่มีความไวต่อการรบกวนสูงมาก โดยเฉพาะเมื่อมีการเปลี่ยนแปลงของคุณภาพน้ำ …เป็นปลาที่หายากมากๆ

ก็จบกันไปแล้วนะครับกับปลาสายพันธุ์ต่าง ๆ ที่ทุกวันนี้หาดูได้ยากมากแล้วในเมืองไทย นี้เป็นเพียงแค่บางส่วนเท่านั้นนะครับ ซึ่งหวังว่าเพื่อน ๆ คงจะชื่นชอบ

ที่มา : โอ้โหจริงดิ