มัดรวมเรื่องแปลกบนโลกนี้ ที่คุณอาจไม่เคยรู้มาก่อนเลย

ตั้งแต่ที่มนุษย์มีอินเตอร์เน็ตก็ดูเหมือนว่าการใช้ชีวิตประจำวันจะกลายเป็นเรื่องที่ง่ายขึ้น เราสามารถใช้ประโยชน์จากอินเตอร์เน็ตได้หลากหลายรูปแบบ รวมไปถึงการหาข้อมูลเกี่ยวกับเรื่องต่าง ๆ ที่เราสนใจ หรือได้เห็นสิ่งแปลกมากมายที่เราอาจไม่เคยรู้มาก่อน ว่ามันจะมีอยู่บนโลกนี้

วันนี้ เราจึงได้มัดรวมเรื่องแปลกแบบไม่แยกหมวดหมู่ นำมาให้ทุกท่านได้รับชม เพื่อเปิดมุมมองใหม่ ๆ ว่าโลกใบนี้ช่างน่าอัศจรรย์เพียงใด ถ้าพร้อมแล้วเราไปรับชมภาพเหล่านั้นกันเลย

1. แกะสี่เขา (Hebridean sheep)

แกะเฮบริเดียน” (Hebridean) เป็นแกะสีดำสุดหายากแห่งประเทศสก็อตแลนด์ มีถิ่นกำเนิดในเกาะเฮบริเดียน มันเป็นแกะที่มีสายพันธุ์เก่าแก่กว่า 6,000 ปีเลยทีเดียว

เมื่อโตเต็มวัยจะมีน้ำหนักประมาณ 40 กิโลกรัม โดยที่ตัวผู้จะมีน้ำหนักมากกว่าตัวเมีย ซึ่งขนสีดำของแกะเฮบริเดียนจะค่อนข้างหยาบแตกต่างจากแกะยุโรปเหนือพันธุ์อื่น ๆ มีหางสามเหลี่ยมที่ค่อนข้างสั้น

และเมื่อพวกมันโตขึ้นขนสีดำก็จะค่อย ๆ เปลี่ยนเป็นสีเทา ยกเว้นที่ใบหน้ากับขาจะไม่มีขนปกคลุมและอีกความโดดเด่น คือ แกะเฮบริเดียนจะมีเขายาวแหลมโค้งออกนอกลำตัวที่บริเวณศีรษะและคาง รวมเป็น 4 เขา

โดยธรรมชาติแล้ว มันเป็นแกะที่มีความอดทนสูง สามารถปรับตัวในอยู่ในสภาพอากาศหนาวและอบอุ่นตามฤดูกาลต่าง ๆ ได้เป็นอย่างดี

เดิมทีพวกมันมีอยู่ในธรรมชาติเป็นจำนวนมาก และถูกล่าเป็นจำนวนมากด้วยเช่นกัน จนในปี ค.ศ. 1973 เหลือไม่ถึง 300 ตัว นั่นจึงทำได้เกิดการรณรงค์ให้อนุรักษ์พวกมันโดยการเลี้ยงและเพาะพันธุ์เป็นปศุสัตว์แทน

เนื่องจากมันเป็นสัตว์ที่แข็งแรงและเลี้ยงง่าย เพียงกินหญ้าตามทุ่งหญ้าเป็นอาหารเหมือนแกะทั่วไป อีกทั้งเนื้อก็ดี ผลิตนมก็ได้ และมีขนที่หนาสามารถตัดได้ทุกปี

ซึ่งมันเหมาะกับการเป็นสัตว์เศรษฐกิจมากกว่าการล่าและทำให้สูญพันธุ์ ในปัจจุบันเจ้าแกะดำชนิดนี้ก็ได้พ้นจากการสูญพันธุ์มาได้และกลายเป็นสัตว์เศรษฐกิจประจำสกอตแลนด์ไปในที่สุด

2. เรนเดียร์ไซโคลน (Reindeer Cyclone)

นี่คือปรากฏการณ์ชวนแปลกตาที่เกิดขึ้นกับฝูงกวางเรนเดียร์ ซึ่งทำให้ฝูงกวางเริ่มวิ่งวนเป็นวงกลมอย่างต่อเนื่องไปในทิศทางเดียวกัน ทำให้เมื่อเรามองจากด้านบนด้วยโดรนหรือการมองจากที่สูง เราจะเห็นเหมือนฝูงเรนเดียร์ราวกับเป็นพายุไซโคลนไม่มีผิด ซึ่งเป็นที่มาของชื่อ “เรนเดียร์ไซโคลน” นั่นเอง

การวิ่งวนเป็นวงกลมในรูปแบบนี้ถือเป็นการปกป้องฝูงรูปแบบหนึ่งของฝูงเรนเดียร์นั่นเอง โดยเรนเดียร์เพศผู้ที่โตเต็มวัยจะพยายามวิ่งอยู่ด้านนอกในขณะที่ให้ตัวเมียและลูกกวางอยู่ภายใน เพื่อเป็นการป้องกันพวกมันจากนักล่าที่พยายามจะเข้าคุกคามพวกมัน

วิธีการแบบนี้นอกจากทำให้ผู้ล่าสับสนแล้ว การที่มันวิ่งเป็นวงกลมจำนวนมากก็ยังสามารถเหยียบย่ำและสังหารศัตรูได้อีกด้วย

โดยปรากฎการณ์ที่เห็นอยู่นี้ มันเกิดขึ้นจากสัญชาตญาณตั้งแต่ในอดีตจนมาถึงปัจจุบันพวกมันก็ยังใช้วิธีป้องกันภัยแบบนี้อยู่ ซึ่งมันไม่ได้กับกวางเรนเดียร์เท่านั้น เพราะ โลมา กระทิง หรือมด ก็ทำได้ด้วยเช่นเดียวกัน ก็แปลกดีเนอะที่สัตว์เหล่านี้รู้ได้อย่างไรว่าทำแบบนี้แล้วพวกมันจะปลอดภัย

3. ผาหินรูปช้าง (Elephant Rock)

เชื่อว่าหลายคนที่เห็นภาพนี้ก็คงคิดว่ามันถูกตัดต่อ หรือไม่ก็ถูกสร้างขึ้นจาก Ai อย่างแน่นอน แต่ความจริงมันคือ ผาหินรูปช้าง (Elephant Rock) ตั้งอยู่บริเวณชายฝั่งของเกาะเฮเมย์(Heimaey) ทางตอนใต้ของประเทศไอซ์แลนด์

สมมุติฐานที่น่าเชื่อถือที่สุดของการเกิดหินช้างบนเกาะเฮเมย์มาจากการปะทุของภูเขาไฟเอลด์เฟล (Eldfell) ที่เกิดขึ้นหลายครั้งและยังปะทุอยู่จนถึงปัจจุบัน

ย้อนกลับไปในปี 1973 ภูเขาไฟเอลด์เฟลได้เกิดการปะทุขึ้นจนทำให้เกาะเสียหายอย่างมาก ชาวบ้านพยายามใช้วิธีการหยุดลาวาไม่ให้เคลื่อนที่มายังบ้านเรือนของพวกเขาด้วยการใช้น้ำทะเลทำให้ลาวาที่เคลื่อนที่เย็นลงจนเกินการแข็งตัว

รวมถึงช่วยกันปกป้องไม่ให้ลาวาไปถึงท่าเรือซึ่งเป็นจุดสำคัญที่สุดของเกาะ ในขณะที่ลาวาบางส่วนก็ไหลลงทะเลและก่อกำเนิดเป็นโขดหินรูปร่างแปลกประหลาดหลายแห่งรอบเกาะรวมถึง ผาหินรูปช้าง ที่เรากำลังพูดถึงกันอยู่ตอนนี้อีกด้วย

นอกจากความใหญ่โตแล้ว มันยังมีความพิเศษที่ช่วยดึงดูดความสนใจให้กับผู้ที่ได้พบเห็นก็คือ รูปทรงที่ดูคล้ายกับช้าง ไม่ว่าจะเป็นตาเอย หรืองวงช้างเอย เรียกได้ว่าหากลองมองไกลๆ หลายคนอาจจะคิดว่ามันคือช้างตัวเป็นๆ เสียอีก

ด้วยความแปลกนี้ ที่ทำให้ ‘ผาหินช้าง’ กลายเป็นเอกลักษณ์ที่โดดเด่น แถมในแต่ละปียังสามารถดึงดูดให้นักท่องเที่ยวเดินทางมาเยี่ยมชมเป็นจำนวนมากอีกด้วย

4. เกาะหุ้มเหล็ก (Iron Clad Island)

เกาะมิกิงโก (Migingo) เป็นเกาะขนาดเล็กจิ๋ว เหนือทะเลสาบวิกตอเรีย ในประเทศเคนยา ทวีปแอฟริกา มีพื้นที่โดยรวมทั้งเกาะแค่ประมาณ 1,980 ตารางเมตร มีผู้พักอาศัยทั้งหมด 131 ครัวเรือน รวมแล้วมีประชากรทั้งสิ้นราว 1,000 คน อันทำให้พื้นที่แห่งนี้กลายเป็นเกาะที่ได้ชื่อว่า มีประชากรหนาแน่นมากที่สุดในโลก

อีกทั้งถ้ามองจากด้านนอกก็จะเห็นหลังคาสังกะสีของชาวบ้านเต็มไปหมด จนได้รับฉายาว่า เกาะหุ้มเหล็ก โดยอาชีพหลักของผู้คนที่นี่ ก็คือ การทำประมง ว่ากันว่าชาวประมงที่นี่มีรายได้ดีกว่าชาวประมงในแถบใกล้เคียงถึง 3 เท่า เนื่องจากอยู่ในจุดที่มีความอุดมสมบูรณ์ที่สุดของทะเลสาบ

เนื่องจากการที่เกาะแห่งนี้อยู่ในบริเวณที่คาบเกี่ยวระหว่างสองประเทศ คือ เคนยา และยูกันดา จึงมักเป็นสาเหตุให้เกิดความขัดแย้งกันอยู่บ่อย ๆ

ในท้ายที่สุดหลังจากทั้งสองประเทศทำข้อตกลงแบ่งปันผลประโยชน์กัน เรื่องราวข้อขัดแย้งก็เป็นอันยุติ ประชาชนบนเกาะก็ใช้ชีวิตอย่างปกติ

ปัจจุบัน เกาะมิกิงโก แห่งนี้ ยังคงได้ชื่อว่าเป็นเกาะที่มีประชากรหนาแน่นที่สุดในโลก แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นก็อาจจะได้ชื่อนี้อยู่อีกไม่นาน อันเนื่องมาจากประชากรที่หนาแน่น ก็ทำให้ทรัพยากรลดน้อยลง และผู้คนก็เริ่มอพยพออกไปหาทำเลจุดหาปลาใหม่ ๆ มากขึ้น

5. ไก่หางยาว (Onagadori Chicken)

โอนากาโดริ เป็นไก่สายพันธุ์เก่าแก่ของญี่ปุ่น มีหางที่ยาวเป็นพิเศษ ซึ่งสามารถยาวได้ถึง 10 เมตร(ในอดีตเคยบันทึกความยาวได้ถึง 13 เมตร) แม้แต่นกยูงยังต้องชิดซ้ายไปเลย พวกมันถูกกำหนดให้เป็นสมบัติทางธรรมชาติแห่งชาติของญี่ปุ่นในปี พ.ศ. 2495 อีกทั้งมันยังเป็นหนึ่งในบรรพบุรุษของไก่สายพันธุ์ เยอรมัน ฟีนิกซ์ อีกด้วย

จากจำนวนไก่ 17 สายพันธุ์ที่ถือว่าเป็นสมบัติของชาติญี่ปุ่น โอนากาโดริเป็นไก่เพียงสายพันธุ์เดียวที่มีสถานะ “พิเศษ” ได้รับการคุ้มครองไม่ให้ส่งออกทั้งตัวไก่หรือไข่ไปนอกประเทศ ดังนั้นเราจะพบไก่สายพันธ์ุนี้ได้ยากมาก ยกเว้นที่ประเทศญี่ปุ่น

โอนากาโดริ ไม่เหมือนกับไก่ทั่วไปที่เราเห็นเพราะมันจะผลัดขนทิ้งน้อยมาก หรือจะบอกว่าแทบไม่ผลัดขนเลยก็ได้ นั่นจึงเป็นสาเหตุหลักที่ทำให้มันมีหางยาว ยิ่งถ้าพวกมันถูกเลี้ยงในสภาวะแวดล้อมที่ดี อยู่ในพื้นที่สูง ๆ ก็จะทำให้หางของมันยิ่งยาวไปเรื่อย ๆ เพราะหางของมันจะไม่หัก

เชื่อกันว่าสายพันธุ์โอนากาโดริ ถูกสร้างขึ้นในศตวรรษที่สิบเจ็ด ที่จังหวัดโทสะของญี่ปุ่นบนเกาะชินโกกุ แต่ก็ยังไม่รู้สายพันธุ์ต้นตระกูลอย่างแน่ชัด แต่ผู้เชี่ยวชาญเชื่อว่ามันมาจากสายพันธุ์หางยาวอื่น ๆ เช่น โชโกกุ โทเท็นโกะ และมิโนฮิกิ สักสายพันธุ์หนึ่ง

โดย ไก่โอนากาโดริ ที่มีหางยาวจะเป็นตัวผู้เท่านั้น และมันจะแต่งขนตัวเองทุกสามปี คือถ้าขนไหนหักหรือชำรุดมันก็จะผลัดขน หรือไม่ก็ถอนขนด้วยตัวเอง

เป็นอย่างไรบ้างกับไก่สายพันธุ์นี้ สวยงามมากเลยใช่ไหม เราเชื่อว่ายังมีไก่อีกหลายสายพันธุ์ที่สวยงามเช่นนี้ ไว้ถ้าเจอจะเอามาฝากอีก

6. หนามในปากเต่าทะเล (Inside sea turtle’s mouth)

เราอาจจะเคยเห็นหน้าตาของ ‘เต่าทะเล’ มาก่อน แน่นอนว่าหน้าตาของมันก็น่ารักน่าชัง แต่หากคุณได้เห็นภาพต่อไปนี้ ความคิดอาจจะเปลี่ยนไปเลยก็ได้ เพราะนี้หนามจำนวนมากที่อยู่ในปากของเต่าทะเล เราขอเรียกมันว่า หนามป้องกันอาเจียน นะครับ

ถึงแม้ว่ามันอาจจะดูแปลกตาไปสักหน่อย แต่ทว่า ‘ธรรมชาติ’ ได้สร้างสรรค์ทุกอย่างขึ้นมาโดยมี ‘เหตุผล’ ในตัวของมันอยู่แล้ว!! เจ้าหนามแหลมเหล่านี้มีไว้เพื่อป้องกันไม่ให้ ‘อาหาร’ ที่เต่าทะเลกินเข้าไปหลุดออกมาจากกระเพาะนั่นเอง

เพราะโดยธรรมชาติแล้ว เวลาที่เต่าทะเลจะกินอาหารใต้น้ำมันก็ต้องเอาน้ำทะเลเข้าไปอัดแน่นอยู่เต็มท้อง จึงทำให้เต่าทะเลต้อง อาเจียนเอาน้ำทะเลออกมาเพื่อให้ท้องว่าง และเจ้าหนามแหลมๆ เหล่านี้ก็จะทำหน้าที่ดักจับ ไม่ให้อาหารมันไหลออกมานั่นเอง

โดยปกติแล้วสัตว์ทะเลอื่นๆ ก็จะมีวิธีในการจัดการน้ำทะเลออกจากร่างกายที่ต่างกันออกไป เช่นปลา ก็จะปล่อยให้น้ำทะเลไหลออกทางเหงือก เต่าทะเลปล่อยกลับออกไปทางปาก และวาฬก็จะมีช่องกระดูกขนาดใหญ่ที่เอาไว้แยกน้ำทะเลกับอาหารโดยเฉพาะ

นี่เป็นกลไกทางธรรมชาติที่ทำงานได้ดีมากๆ จนกระทั่ง โลกของเรามีขยะพลาสติกเพิ่มมากยิ่งขึ้น นั่นทำให้ ‘เต่าทะเล’ จำนวนมากต้องเสียชีวิตลงเพราะขยะเหล่านี้ เพราะมันอาเจียนออกมาไม่ได้ยังไงล่ะ…

7. แมงมุมประตูกล (Trapdoor spider / Cyclocosmia)

แมงมุมประตูกล (Trapdoor spider) หรือที่มีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า Cyclocosmia ซึ่งตัวเมียจะมีขนาดใหญ่กว่าตัวผู้ โดยมีความยาวลำตัว 1.1 นิ้ว มีเส้นผ่านศูนย์กลางรูปจานบริเวณก้น 0.63 นิ้ว ส่วนตัวผู้เติบโตถึง 0.75 นิ้ว

แมงมุมประตูกลมีรูปร่างที่แปลกประหลาด คือ มีส่วนท้ายของก้นดูเหมือนถูกตัด และแข็งมาก มีลักษณะคล้ายจาน หรือบางคนก็บอกว่าคล้ายเหรียญโบราณ บ้างก็ว่าคล้ายตราประทับโบราณ แต่สำหรับผมมองว่ามันคล้ายโอริโอ้ มากกว่านะครับ

พวกมันเป็นแมงมุมที่ขุดรูเป็นโพรงอยู่ในดินดังนั้นส่วนที่แข็งตรงก้นของมันจึงมีไว้เพื่ออุดรูโพรงของพวกมัน คล้ายเป็นประตูกลเมื่อถูกคุกครามจากผู้บุกรุก

นอกจากนั้นในบริเวณรอบก้นที่แข็งของมันก็จะมีขนหนามที่แข็งจำนวนมากอยู่รอบขอบจาน เพื่อเสริมการป้องกันอีกชั้นหนึ่ง

พวกมันเป็นสัตว์มากินในเวลากลางคืน โดยมันจะขุดรูสร้างรัง และเอาเส้นใยผสมเศษดินเพื่อให้ดูกลมกลืนและใช้เป็นฝาปิดปากรูเอาไว้ ทำเป็นเหมือนประตูกลที่สามารถเปิด-ปิดได้ เมื่อมันจับการเคลื่อนไหวของเหยื่อจากการสั่นสะเทือนบนพื้นดินบริเวณปากรู มันก็จะดักลากเหยื่อลงไปกินอย่างว่องไว

หากถูกกัด พิษของมันจะทำให้เกิดอาการปวดบวม แต่ไม่เป็นอันตรายต่อมนุษย์ แมงมุมประตูกลมีอายุที่ยืนยาวเนื่องจากพวกมันอาศัยอยู่ใต้ดิน ทำให้พวกมันมีการเผาผลาญต่ำ และไม่เสี่ยงต่อการถูกล่าอีกด้วย

พบได้ในบริเวณที่มีอากาศร้อนชื้น แถบแอฟริกา เอเชีย และสถานที่ที่อบอุ่นอื่นๆ อีกมากมาย ไม่แนะนำให้เลี้ยง เพราะใกล้สูญพันธุ์ เลี้ยงยากตายง่าย หายากอีกด้วยนะครับ

8. เสาหินครอว์ลีย์ ทะเลสาบครอว์ลีย์ (Crowley Lake)

หมู่เสาหินขนาดเล็กจำนวนมากกว่า 5,000 เสา สูงราวๆ 20 เมตร ตามชายฝั่งทะเลสาบครอว์ลีย์ รัฐแคลิฟอเนียร์ สหรัฐอเมริกา ซึ่งมีความสูง รูปร่าง และสีสันแตกต่างกันไป บ้างเป็นสีเทา บ้างเป็นสีชมพู บ้างมีรูปทรงตั้งตรง บ้างก็เป็นรูปโค้ง

ซึ่งเสาเหล่านี้จะปรากฏขึ้นให้เห็นในวันที่ระดับน้ำในทะเลสาบลดลง จากการตรวจสอบพบข้อสันนิษฐานว่า เสาธรรมชาติเหล่านี้เป็นผลมาจากการหลอมรวมกันของน้ำเย็นและเถ้าภูเขาไฟที่ระเบิดเมื่อ 700,000 ปีที่แล้ว

นอกเหนือจากกลุ่มเสาหินมากมายที่ค้นพบกระจายอยู่ในพื้นที่สามตารางไมล์ ยังมีกลุ่มเสาอีกจำนวนมากที่ยังคงจมลึกอยู่ใต้ดิน

ที่น่าประหลาดใจก็คือหลังจากมีการตรวจสอบโครงสร้างของเสาหินธรรมชาติ ด้วยรังสีเอ็กซ์และกล้องจุลทรรศน์ไฟฟ้า ตรวจพบส่วนประกอบของแร่ธาตุภายในมีคุณสมบัติในการต่อต้านการผุกร่อนได้ จึงเป็นเหตุผลว่าทำไมพวกมันจึงคงอยู่มาได้หลายแสนปี

9. สัตว์ประหลาดจากใต้ทะเลลึก

นี่คือสิ่งมีชีวิตลึกลับใต้ท้องทะเลลึกที่นักวิทยาศาสตร์แทบจะไม่รู้อะไรเกี่ยวกับมันเลย ภาพนี้ถูกถ่ายจากยานสำรวจที่ควบคุมระยะไกล

ซึ่งเผยให้เห็นภาพของวัตถุประหลาดลึกลับ คล้ายแมงกะพรุน ลอยพลิ้วไหวไปมาหน้ากล้อง จนเป็นที่ถกเถียงในหมู่ชาวเน็ตว่า วัตถุดังกล่าวคืออะไรกันแน่ บ้างก็เชื่อว่าเป็นแมงกะพรุน หรือ บ้างบอกว่าเป็นแค่ขยะ พลาสติก หรือแหจับปลา เท่านั้น

ย้อนกลับไปเมื่อ 45 ปีก่อนเคยมีรายงานการค้นพบเจ้าสิ่งมีชีวิตนี้มาแล้ว มันคือ แมงกะพรุนพันธุ์ ดีปสตาเรีย อินิกมาติกา (Deepstaria Enigmatica) ซึ่งเป็นสายพันธุ์ที่พบเจอได้อยากมาก ๆ และจะพบมันได้ที่ระดับความลึกตั้งแต่ 1,000 เมตรเป็นต้นไป ในอ่าวเม็กซิโกและมหาสมุทรอินเดียใต้

มีลักษณะโปร่งแสง ไร้สี ยกเว้นส่วนท้องที่มีสีน้ำตาล ลำตัวบางมากจนมองเห็นริ้วลายคล้ายตาข่าย เวลาเคลื่อนไหวจะพลิ้วคล้ายผ้ากำลังถูกพับ แต่บางครั้งก็ลอยนิ่งเหมือนโคมไฟ

อย่างไรก็ดีเนื่องจากว่ามันเป็นสิ่งมีชีวิตที่พบได้ยากมากจึงทำให้ไม่มีการศึกษาใดๆ เกี่ยวกับมัน ทุกวันนี้เรื่องราวของมันยังคงเป็นปริศนา ว่ามันกินอะไรเป็นอาหาร, ถิ่นอาศัยอยู่ที่ไหน หรือดำรงชีวิตในสิ่งแวดล้อมแบบใด…ยังคงไม่มีคำตอบ